มรดกโลก นิยามความหมาย
อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ
ขั้นตอนและวิธีการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก
รดกโลก นิยามและความหมาย

                 มรดกโลก (World Heritage) หมายถึง มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่ง “มรดกโลก” แล้ว  ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในขอบเขตดินแดนของประเทศใด ถือได้ว่าเป็นมรดกของมนุษยชาติทั้งปวงในโลก

               มรดกโลก ยังเป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่มนุษย์ได้รับจากอดีต ได้ใช้และภาคภูมิใจในปัจจุบัน และถือเป็นพันธกรณีในการทำนุบำรุงดูแลรักษา เพื่อมอบให้เป็นมรดกอันล้ำค่าแด่มวลมนุษยชาติในอนาคต มรดกโลก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ มรดกโลกทางวัฒนธรรม (World Cultural Heritage) และมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Natural Heritage)

 กลับไปด้านบนสุด
นุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือเรียกสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาคุ้มครอง มรดกโลก" (The World Heritage Convention) เป็นความตกลงระหว่างรัฐภาคี (States Parties) ในการยอมรับและให้ความร่วมมือในการดำเนินการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองและอนุรักษ์แหล่ง มรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติทั้งที่มีอยู่ในประเทศตนและประเทศอื่น ให้ดำรงอยู่เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติตลอดไป

วัตถุประสงค์สำคัญของอนุสัญญาฯ คือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการคุ้มครอง และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป

พันธกรณีของรัฐภาคี ได้แก่ การกำหนดนโยบายและวางแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ การกำหนดมาตรการเพื่อการศึกษาวิจัย การปกป้องคุ้มครองการอนุรักษ์และการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ และละเว้นการดำเนินการใดๆ ที่อาจจะทำลายมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของรัฐภาคีอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม แต่จะสนับสนุนและช่วยเหลือรัฐภาคีอื่น ในการศึกษาวิจัยและปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติในประเทศนั้น ๆ

อนุสัญญาฯ   ฉบับนี้    ได้รับการรับรองจากรัฐสมาชิกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์    และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ในการประชุมใหญ่สมัยสามัญครั้งที่ ๑๗ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ โดยอนุสัญญาฯ   มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๑๘ เป็นต้นมา

หมวดที่ ๑  นิยามของมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
หมวดที่ ๒  การคุ้มครองป้องกันมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติในระดับชาติและระดับนานาชาติ
หมวดที่ ๓  คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการคุ้มครองป้องกันมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
หมวดที่ ๔  กองทุนเพื่อการคุ้มครองป้องกันมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ
หมวดที่ ๕  เงื่อนไขและการบริหารจัดการความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
หมวดที่ ๖  แผนงานการศึกษา
หมวดที่ ๗  รายงาน
หมวดที่ ๘  (หมวดสุดท้าย)
 กลับไปด้านบนสุด
ขั้นตอนและวิธีการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

               การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเพื่อให้บรรจุไว้ใน "บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก"  (World Heritage List) จะกระทำได้โดยรัฐบาลแห่งประเทศภาคี สมาชิกผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาตินั้นๆ เท่านั้น

               ประเทศที่ต้องการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตน ให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ขั้นตอนแรกจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติทั้งหมดภายในประเทศของตน บัญชีนี้เรียกว่า “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” (Tentative List) ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะมีเพียงสถานที่ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ ขั้นต่อมาประเทศนั้นๆ จะต้องเลือกรายชื่อสถานที่ที่ต้องการเสนอชื่อ มาจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเพื่อจัดทำเป็น "แฟ้มข้อมูล"  (Nomination File) โดยทางศูนย์มรดกโลกอาจให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจัดทำแฟ้มข้อมูล

               แฟ้มข้อมูลจะถูกตรวจสอบและพิจารณาจากองค์กรที่ปรึกษา ได้แก่ “สภาระหว่างประเทศว่าด้วยโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี” (The International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) และ "ศูนย์ระหว่างชาติว่าด้วยการศึกษา การอนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์สมบัติทางวัฒนธรรม" (The International Centre for the Study of the Preservation and Restoration of the Cultural Property หรือ ICCROM) ในส่วนของมรดกทางวัฒนธรรมและ "สหภาพการอนุรักษ์โลก"  (The World Conservation Union หรือ IUCN) ในส่วนของมรดกทางธรรมชาติ

               เมื่อได้พิจารณาข้อมูลการประเมินคุณค่าที่องค์กรที่ปรึกษาได้นำเสนอแล้ว คณะกรรมการบริหาร (World Heritage Bureau) จะมีมติเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาตัดสินต่อไป

               คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) จะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง ในการประชุมสมัยสามัญประจำปี เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่สมควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

 กลับไปด้านบนสุด
ลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก

               มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ได้รับการประเมินคุณค่าให้เป็นแหล่งมรดกโลก จะต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน (World Heritage Criteria) ดังต่อไปนี้

หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Criteria)
i.

เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์

ii.

เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม

iii.

เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

 iv.

เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

v.

เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม  วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา

vi.

มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

   
หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ (Natural Criteria)
vii.

เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของการเป็นตัวแทนในวิวัฒนาการสำคัญต่างๆ ในอดีตของโลก เช่น ยุคสัตว์เลื้อยคลาน      ยุคน้ำแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาความหลากหลายทางธรรมชาติบนพื้นโลก

 viii.

เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได

 ix.

เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายาก หรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา

x.

เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์ และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย


หมายเหตุ  เดิมหลักเกณฑ์มาตรฐานมรดกโลกนั้น ได้มีการแบ่งออกเป็น ๒ ชุด คือ

               ชุดที่ ๑ หลักเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม มี 6 ข้อ ได้แก่ หลักเกณฑ์ข้อที่ ๑-๖ ของมรดกโลกทางวัฒนธรรม
               ชุดที่ ๒ หลักเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ มี ๔ ข้อ ได้แก่ หลักเกณฑ์ข้อที่ ๑-๔ ของมรดกโลกทางธรรมชาติ

               ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๔๘ เป็นต้นมา จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยการรวมหลักเกณฑ์ทั้ง ๒ ชุดนี้ ให้เป็นชุดเดียวกัน กลายเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานมรดกโลก ๑๐ ข้อ โดยแบ่งเป็นหลักเกณฑ์มรดกโลกทางวัฒนธรรม ๖ ข้อ ได้แก่ หลักเกณฑ์ข้อที่ ๑-๖ และหลักเกณฑ์มรดกโลกทางธรรมชาติ ๔ ข้อ ได้แก่ หลักเกณฑ์ข้อที่ ๗-๑๐ ดังตารางด้านล่างนี้

  หลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม
Cultural Criteria
หลักเกณฑ์ทางธรรมชาติ
Natural Criteria
แนวปฎิบัติ พุทธศักราช ๒๕๔๕
Operational Guidelines 2002
(i) (ii) (iii) (iv) (v) (vi) (i) (ii) (iii) (iv)
แนวปฎิบัติ พุทธศักราช ๒๕๔๘
Operational Guidelines 2005
(i) (ii) (iii) (iv) (v) (vi) (vii) (viii) (ix) (x)

นอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว การพิจารณาคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล

ของแหล่งมรดก (Outstanding Universal Value) ยังต้องคำนึงถึง

ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Integrity) และ/หรือ ความเป็นของแท้ (Authenticity)

รวมทั้งจะต้องมีระบบการบริหารจัดการ และการคุ้มครองแหล่งมรดกโลกอย่างเหมาะสม

 กลับไปด้านบนสุด
 
 ติดต่อผู้ดูแลระบบ  |  แผนผังเว็บไซต์  | แลกลิงค์  |  ข้อมูลอ้างอิง  |  สนับสนุนภาพถ่าย
 
กระทรวงวัฒนธรรม
๖๖๖ ชั้น ๑๕ - ๒๓  ถนนบรมราชชนนี  แขวงบางบำหรุ  เขตบางพลัด  กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐  โทรศัพท์ ๐๒ ๔๒๒ ๘๘๘๘
666 Borommaratchachonnani Road, Bang Phlat, Bang Bamru, Bangkok Thailand 10700 Tel. +662 422 8888